ในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีอันชาญฉลาดได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองชีวิตวิถีใหม่ หนึ่งในนั้นคือ โดรน หรือที่รู้จักกันในนาม อากาศยานไร้คนขับ UAV (unmanned aerial vehicle) แต่ทว่าถูกบังคับโดยมนุษย์ด้วยระบบสื่อสารอัตโนมัติ โดรนที่ว่านี้มีหลายประเภท ทั้งใช้งานบนบก ใต้น้ำ และในอากาศ แต่ที่เรารู้จักกันดีและถูกนำมาใช้งานมากที่สุดเห็นเป็น โดรนอากาศ หรือ อากาศยานไร้คนขับ ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้นในสายอาชีพต่าง ๆ แต่จะมีอาชีพด้านใดบ้างนั้นตามเราไปรู้จักพร้อม ๆ กันเลย
โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ (UAV)ในยุคแรก ๆ ถูกใช้งานเพื่อภารกิจทางทหารเป็นหลัก เช่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็มีการนำโดรนมาใช้งานเพื่อการสอดแนมข้าศึก โดยติดตั้งกล้องถ่ายภาพความสะเอียดสูงเพื่อวิเคราะห์เป้าหมายและติดอาวุธเพื่อการลอบโจมตีข้าศึก หลังจากนั้นหลายสิบปี โดรนได้ถูกพัฒนาให้มีความทันสมัย เพื่อใช้ในภาคธุรกิจและการรักษาความปลอดภัย
ปัจจุบันในประเทศไทยนิยมใช้โดรนในเชิงพาณิชย์มากขึ้น เช่น ในวงการแฟชั่นหรือการถ่ายโฆษณา ภาพยนตร์ รายการข่าวและสารคดีต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ได้การเล่าเรื่องจากภาพสวยในมุมสูงของกล้องในแบบที่เรียกว่า Bird Eye View นั่นเอง นอกจากนี้ยังนิยมใช้โดรนหลาย ๆ ลำ เพื่อการแปรอักษรเป็นภาพหรือคำอวยพรและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ด้วยแสงไฟที่มีการติดตั้งระบบเพื่อการให้แสงที่พิเศษ เช่น การเปลี่ยนสีในจังหวะเพลง หรือการกระพริบตามคำสั่ง ส่วนในสายอาชีพวิศวกรหรือสถาปนิก มีการใช้โดรนเพื่อการวิเคราะห์โครงสร้าง การค้นหาจุดซ่อมแซม และพัฒนางานก่อสร้างในส่วนที่คนงานเข้าไปไม่ถึง
ในส่วนราชการ เริ่มมีการใช้โดรนเพื่อการสำรวจพื้นที่ป่าหรืออาณาเขตที่ห่างไกลซึ่งการเดินเท้าเข้าไม่ถึง ทหารและตำรวจใช้เพื่อการหาต้นหาตำแหน่งหรือจัดทำแผนที่ต่าง ๆ สำหรับภาคการเกษตร เริ่มมีการฝึกอบรมนักวิชาชีพและเกษตรกรเพื่อใช้โดรนในการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสำรวจพื้นที่แปลงเพาะปลูกที่อยู่ไกล ๆ นอกเหนือจากการติดกล้องวงจรปิดในการติดตามการเพาะปลูกพืชพรรณทางการเกษตรต่าง ๆ ในอนาคตอาจมีการพัฒนาโดรนเพื่อการขนส่งและควบคุมกระบวนการเพาะปลูกในระยะยาวอีกด้วย
โดยได้จำแนกประเภทของ UAV ไว้ 5 ประเภท ได้แก่
1.ประเภท เป้าฝึกทางการทหาร นิยมใช้ในภารกิจล่อเป้าการฝึกซ้อมยิงปืนต่อต้านอากาศยานหรือขีปนาวุธ
2.ประเภทสอดแนม นิยมใช้ในหน่วยข่าวกรองทางทหารหรือตำรวจ
3.ประเภทโจมตีหรือต่อสู้ ใช้ในภารกิจทางทหาร
4.ประเภทขนส่ง สามารถบรรทุกน้ำหนักและค้นหาจุดหมายได้แม่นยำ
5.ประเภทการวิจัยและพัฒนา เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานสำหรับพลเรือนในเชิงพาณิชย์และการตลาด
พร้อมทั้งแบ่งขนาดตามพิสัยของการบิน 8 ขนาด ดังนี้
1.แบบขนาดเล็ก พิสัยการบิน 2 กิโลเมตร บินได้สูง 2,000 ฟุต
2.แบบระยะใกล้ พิสัย 10 กิโลเมตร สามารถบินได้สูง 5,000 ฟุต
3.แบบนาโต้ พิสัย 50 กิโลเมตร บินได้สูง 10,000 ฟุต
4.แบบยุทธวิธี พิสัย 160 กิโลเมตร ความสามารถในการบินสูง 18,000 ฟุต
5.แบบระดับความสูงปานกลาง ในพิสัย 200 กิโลเมตร บินได้สูง 30,000 ฟุต
6.แบบพิสัยไม่จำกัด ความสามารถในการบินได้สูงกว่า 30,000 ฟุต
7.แบบความเร็วเหนือเสียง พิสัย 200 กิโลเมตร สามารถบินได้สูง 50,000 ฟุต ความเร็วตั้งแต่ 1-5 มัคขึ้นไป
8.แบบบินในวงโคจรโลก ใช้ความเร็วมากกว่า 25 มัค
อย่างไรก็ตามในขณะที่ทั่วโลกเริ่มนำโดรนมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อการหว่านเมล็ดพันธุ์ ตรวจสอบคุณภาพของดินและเมล็ดพันธุ์ แล้วยังใช้ในการสำรวจหาพื้นที่ขาดน้ำด้วยระบบเซนเซอร์อีกด้วย ซึ่งในประเทศไทย เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตรรูปแบบใหม่ โดยการจัดฝึกอบรมเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจให้สามารถใช้โดรนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งคาดว่าในอนาคตเทคโนโลยีดังกล่าว จะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นและนำไปสู่อาชีพคนขับโดรน ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่อาศัยความถนัดด้านเทคโนโลยี ฝึกฝนทักษะการขับโดรนจนชำนาญ ประกอบกับพรสวรรค์ในการถ่ายภาพ ผันตัวเองเข้าสู่อาชีพนักขับโดรนเพื่อการถ่ายภาพงานโฆษณาและสารคดีต่าง ๆ โดยล่าสุด กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับบริษัท แอโร กรุ๊ป (1992) จำกัด จัดหลักสูตร การควบคุมอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อการเกษตรขึ้น เราจะได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยีโดรน อากาศยานไร้คนขับ มีการส่งเสริมให้พัฒนาทักษะฝีมือจนสามารถเป็นอาชีพใหม่ในอนาคตอันใกล้นี้